เกี่ยวกับโครงการ

หลักการและเหตุผล

        สมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (สนวก.) เป็นองค์กรหนึ่ง เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักประดิษฐ์ที่มีผลงานและประสบการณ์ เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการและนักธุรกิจ ระดับประเทศและระดับนานาชาติ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนากระบวนการคิด การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการศึกษาและการพัฒนาทักษะวิชาชีพของเด็กและเยาวชน ในการที่จะเติบโตไปเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของประเทศ จึงได้จัด โครงการ Young Creative Awards Startup Thinking ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังให้เยาวชนได้มีทักษะการประดิษฐ์คิดค้นและการสร้างนวัตกรรมที่มีคุณภาพและศักยภาพสูง พร้อมที่จะพัฒนาไปสู่การผลิต เพื่อการมีรายได้และพัฒนาไปสู่ตลาด การค้าในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนการก้าวไปสู่การเป็น ผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) โดยการนำเอาแนวคิดของการประดิษฐ์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การผลิตในเชิงอุตสาหกรรม กระบวนการขายอย่างเป็นระบบและกระบวนการพัฒนาธุรกิจแบบ Startup ภายใต้การควบคุมดูแล จากทีมงานมืออาชีพ ทำการแข่งขันเพื่อค้นหา สิ่งประดิษฐ์ที่มีศักยภาพสูง เพื่อส่งเสริมและจัดหาทุนสนับสนุน ให้มีการพัฒนาและสามารถต่อยอด จนเติบโตไปเป็นธุรกิจที่มั่นคงอย่างยั่งยืน อันจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

วัตถุประสงค์

  • 1.เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังให้เยาวชนไทยมีทักษะและมีความคิดสร้างสรรค์ ที่จะนำไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการค้นหานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ที่จะผลักดันให้เป็นสินค้าที่จะก่อให้เกิดการมีรายได้ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การเป็นธุรกิจที่มั่นคง ยั่งยืน
  • 2.เพื่อสร้างเยาวชนต้นแบบ ด้านการประกอบธุรกิจ Startup ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการที่ดี การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์
  • 3.เพื่อคัดเลือกเยาวชนให้เข้าสู่กระบวนการคัดกรอง การบ่มเพาะและพัฒนาแบบจำลองธุรกิจด้านนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่มีศักยภาพสูง เพื่อเป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ของประเทศ
  • 4. เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรในสถานศึกษาได้สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาเกิดการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในสถานศึกษา
  • 5.เพื่อเผยแพร่ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต้นแบบที่มีคุณภาพมีคุณค่าทางวิชาการก่อเกิดรายได้และอาชีพที่เป็นประโยชน์เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ