นายกนักประดิษฐ์ฯ ห่วงทรัพย์สินทางปัญญาไทย ถูกละเมิดเสียหายยับเยิน จากผู้ไม่ได้สร้างสรรค์ ชี้ยุคนี้ละเมิดได้ง่ายมาก แนะปลูกฝังเยาวชนไทย เคารพในสิทธิผู้อื่น
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2562 – นายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ นายกสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการนำความลับทางการค้าของไทยไปเผยแพร่ว่า ปัจจุบัน พบว่า เว็บไซต์ที่ให้บริการ อัปโหลดสินค้าเพื่อขายและเก็บค่าบริการรายปี มีการอัปโหลดความลับทางการค้าของชาติไทย ในขณะที่รัฐส่งเสริมนวัตกรรม แต่เว็บไซต์เหล่านั้น ดูดข้อมูลไปและแปลเป็นภาษาจีน ให้คนจีนเลียนแบบและผลิต นอกจากนั้นยังพบว่ามีการเลียนแบบแหล่งกำเนิดสินค้าไทย อ้างว่าผลิตในประเทศไทย ทั้งเครื่องหมายการค้าที่จดไว้ ก็เลียนแบบ ทำให้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะสินค้าไม่มีคุณภาพ ในมณฑลต่างๆของจีนได้ส่งเสริมให้คนในมณฑลผลิตสินค้า ใครผลิตได้มีเงินจากมนฑลเหล่านั้นสนับสนุน ราคาต้นทุนจึงถูกกว่าไทย มากกว่า 30-50% ทำให้คนไทยเสียหายยับ และบางรายต้องปิดกิจการไปอย่างน่าใจหาย
นายภณวัชร์นันท์ กล่าวว่า จากรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI พบว่า มูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญา ที่เริ่มต้น 1 ทรัพย์สินทางปัญญา มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มากถึง 3 ล้านยูโร เพียงแค่ธุรกิจเริ่มต้น และ TDRI ยังระบุว่า จากรายงานวิจัย ของ de Vries ในปี 2011 ประเทศเนเธอร์แลนด์ กรณีสิทธิบัตรที่เป็นเคมีภันฑ์ เป็นเทคโนโลยี จะมีมูลค่าถึง 14,400 ล้านบาท ต่อ 1 สิทธิบัตร เมื่อเกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในขณะที่ตลาดกำลังเติบโต จะทำให้ผู้ประดิษฐ์ หรือ ผู้ทรงสิทธิ์ จะต้องหยุดและปิดกิจการอัตโนมัติ ทำให้มูลค่าการผลิตและส่งออกของประเทศล่มสลายทันที มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง สร้างปัญหาให้กับรัฐบาล และปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยี Cyber ผู้ให้บริการ เว็บไซต์ต่างๆเปิดให้อัปโหลดคุณสมบัติของสินค้า สี รูปแบบ และเงื่อนไขอื่นๆ และเก็บค่าบริการรายปี กับผู้ที่อยากขายสินค้า แต่รัฐไม่มีกฎหมายความลับทางการค้าที่เข้มข้น และไม่มีเทคโนโลยี Cyber itelligence ที่ทำหน้าที่ Protect & Attack เอาไว้ป้องกันและจับคุม ความเสียหายของประเทศจะเพิ่มขึ้นเกินเยียวยา จะทำให้สังคมการผลิต หายสาบสูญไปจากสังคมไทยโดยสิ้นเชิง หากยังปล่อยให้ต่างชาติละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไทย
“การจับเด็กละเมิดลิขสิทธิ์ลอยกระทง โดยผู้ทำมาหากินกับกฎหมาย ถือว่าผิดร้ายแรง ทำลายฝันเยาวชน โดยตนขอให้รัฐแก้ไข ห้ามจับก่อนศาลออกหมายจับ เพราะการแสวงหาพยานหลักฐานสมัยนี้หาง่าย มีทั้งกล้องวงจรปิด มือถือจะได้ไม่มีใครไปข่มขู่ประชาชนเพื่อเรียกรับเงิน” นายภณวัชร์นันท์ กล่าว
นายภณวัชร์นันท์ กล่าวอีกว่า สำหรับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย สถานศึกษาควรให้ความรู้เรื่องคุณธรรม จริยธรรม และการปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น ไม่ให้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพราะเมื่อรัฐบาลส่งเสริมการประดิษฐ์ และพัฒนาเป็นนวัตกรรม ยังส่งเสริมให้เยาวชน สร้างธุรกิจ Startup สมัยใหม่ ทุกสถานศึกษาไม่ควรให้เยาวชนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับสื่อมวลชน ควรสื่อสารให้ผู้บริโภค เห็นถึงผลกระทบเชิงลบของสินค้าเลียนแบบในทางเสียหายด้านเศรษฐกิจ การไม่เสียภาษีของผู้จำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค สร้างความเสียหายให้สังคมและบั่นทอนกำลังใจผู้ประดิษฐ์ ผู้สร้างผลงาน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาลของประเทศ อีกด้วย
ขอบคุณข่าวและภาพจาก https://www.komchadluek.net/news/economic/398307